views

การขอรับบริจาค ที่ไม่ผิดกฎหมาย

HIGHLIGHTS
การขอรับบริจาค หรือการเรี่ยไรเงิน มีกฎหมายควบคุมด้วย ซึ่งอยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 มาตรา 4 “การเรี่ยไร หมายความรวมตลอดถึงการซื้อขาย แลกเปลี่ยนชดใช้ หรือบริการ ซึ่งมีการแสดงโดยตรงหรือโดยปริยาย ว่ามิใช่เป็นการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการธรรมดา แต่เพื่อรวบรวมทรัพย์สินที่ได้มาทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้ในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นด้วย”

การขอรับบริจาคหรือการเรี่ยไรที่ถูกกฎหมายสรุปได้ดังนี้

1.การขออนุญาตทำการเรี่ยไรในที่สาธารณะ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อโทรทัศน์จะต้องได้รับอนุญาตจากกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย และจะต้อง

  • ระบุวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน
  • กำหนดวิธีการที่จะทำการเรี่ยไร
  • จำนวนเงินที่ต้องการเรี่ยไร
  • สถานที่ทำการเรี่ยไร
  • กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการเรี่ยไร และระยะเวลาสิ้นสุดไว้อย่างชัดเจน

2.ผู้ที่ได้รับอนุญาตจะไม่สามารถเดินไปขอเรี่ยไรตามหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะนอกเหนือจากที่ขออนุญาตไว้

3.ผู้ที่ขออนุญาตจะต้องมีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ ไม่มีจิตฟันเฟือน ไม่เป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ และไม่เคยต้องโทษฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ รับของโจร หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมาย

4.ในการขออนุญาตทำการเรี่ยไร หากอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครสามารถยื่นเรื่องขออนุญาตได้ที่กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย หรือต่างจังหวัดติดต่อที่ที่ว่าการอำเภอทุกจังหวัด

5.ผู้ที่ได้รับอนุญาตจะต้องพกใบอนุญาตติดตัวตลอดเวลา เพื่อง่ายแก่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่

6.ห้ามใช้ถ้อยคำบังคับขู่เข็ญผู้ที่ถูกเรี่ยไร ทำให้เกิดความหวาดกลัวหรือเกรงกลัวตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร หากฝ่าฝืนมาตรา 16 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาทหรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี

ซึ่งการขอรับบริจาคที่ผิดกฎหมายหรือไม่ปฎิบัติตาม ข้อกฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 อาจจะมีความผิดฐานอื่นอีก ได้แก่ 

  • หากการขอรับบริจาค
    • มีการหลอกลวง หรือ
    • มีเจตนาฉ้อโกง หรือ
    • ฉ้อโกงประชาชน ก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 หรือมาตรา 343 แล้วแต่กรณีนอกจากนี้อาจจะถูกตรวจสอบทรัพย์สิน หากความผิดข้อหาฉ้อโกงประชาชนซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
  • ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 14 (1 ) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
  • ความผิดเรื่องการ“ ขอทาน” ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 ห้ามบุคคลใดทำการขอทาน ซึ่งการขอทาน หมายความว่าขอเงินหรือทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นการขอด้วยวาจาข้อความหรือกิริยาอาการใด ๆ เพื่อให้ผู้อื่นเกิดความสงสาร และส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินให้


February 10, 2021
by KKN การบัญชี

- ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต
- อาจารย์พิเศษให้กับสถาบันของรัฐและเอกชน


บทความที่น่าสนใจ